คันไซ

กิโมโนและยูกาตะชุดประจำชาติญี่ปุ่นกับความเหมือนที่แตกต่าง


หากจะพูดเรื่องของวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นที่โดดเด่นไม่ว่าจะเป็นการแสดง เทศกาลต่างๆ อีกหนึ่งอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่หลายๆ คนคุ้นตากันดีก็คือการแต่งตัวด้วยชุดประจำชาติอย่างชุดกิโมโนและชุดยูกาตะ ที่ไม่ว่าจะเป็นในงานเทศกาลหรือตามโอกาสสำคัญต่างๆ มักจะเห็นชาวญี่ปุ่นสวมใส่ชุดเหล่านี้อยู่เสมอ แม้ทั้งชุดกิโมโนและชุดยูกาตะนั้นต่างก็เป็นชุดที่ชาวญี่ปุ่นนิยมใส่กันในโอกาสต่างๆ แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ คนยังไม่รู้ มาค่อยๆ ทำความรู้จักกับชุดกิโมโนกับชุดยูกาตะกันให้มากขึ้นกันดีกว่า

ประวัติและความเป็นมาของชุดกิโมโนและชุดยูกาตะ

ประวัติของชุดกิโมโน

ในช่วงสมัยเฮอัน (Heian) ในช่วงปี ค.ศ 794 – 1192 ในสมัยนั้นมักทำชุดแต่งกายมาจากผ้าผืนเดียวหรือเสื้อผ้าชิ้นบนและชิ้นล่างที่มีรูปแบบเดียวกัน ซึ่งในสมัยเฮอันช่วงต้นเริ่มมีการพัฒนาการทำเสื้อผ้าให้เป็นเส้นตรงและผลิตจากเนื้อผ้าชนิดต่างๆ เพื่อให้ง่ายในการตัดเย็บและการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาจนกลายมาเป็นกิโมโนที่คนญี่ปุ่นสมัยนั้นนิยมใส่ในเวลาต่อมา จึงถือได้ว่าสมัยนี้เป็นยุคแรกของกิโมโน ชุดกิโมโนมีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงช่วงสมัยเอโดะ (Edo)ค.ศ 1603 – 1896 ที่ชุดกิโมโนสมัยนี้มีความประณีตมากขึ้นทั้งลวดลาย การเลือกผ้าชนิดต่างๆ และมีการตัดเย็บให้แก่ซามูไรและชนชั้นสูงต่างๆ ที่อยู่ในยุคนั้นตามเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม โดยที่มักจะใช้ผ้าลินินเพื่อให้ไหล่ของชุดกิโมโนตั้งขึ้น มาพร้อมกับกางเกงขายาวที่รูปร่างคล้ายกระโปรงอีกชิ้นหนึ่งที่คู่กัน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและการพัฒนาของชุดกิโมโนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาจนมาในช่วงสมัยเมจิ (Meiji) วัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกเริ่มแผ่กระจายมายังประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ทำให้การแต่งตัวเปลี่ยนไปผู้คนนิยมแต่งตัวด้วย กางเกง กระโปรงและชุดต่างๆ ให้เป็นแบบสากลมากขึ้น การใส่ชุดกิโมโนนั้นจึงนิยมใส่ในงานหรือเทศกาลต่างๆ เท่านั้นเรื่อยมา

ประวัติของชุดยูกาตะ

ในสมัยเฮอัน (Heian) ในช่วงปี ค.ศ 794 – 1192 ที่ยังไม่มีพิธีอาบหรือแช่น้ำ เมื่อจะทำการอาบน้ำจึงมักเลือกใส่ชุดที่บางเบาสบายตัวเพื่อใช้ซับเหงื่อหรือเพื่อไม่ให้ผิวโดนไอน้ำจากน้ำร้อนโดยตรงโดยที่ซึ่งจะเรียกชุดนี้ว่า ยูกาตะบิระ (Yukatabira) และต่อมาในช่วงสมัยเอโดะ(Edo)ค.ศ 1603 – 1896 ที่เริ่มมีการอาบน้ำโดยที่เปลือยร่างกายทั้งหมดแล้วนั้น แต่การใส่ชุดยูกาตะที่ทีแรกใช้เพื่อซับเหงื่อและกันผิวไม่ให้โดนไอร้อนจากน้ำร้อนโดยตรงนั้นได้เปลี่ยนไป โดยได้ใช้เป็นชุดที่ใช้สวมใส่เวลาออกไปข้างนอกได้เป็นเรื่องปกติและเริ่มเรียกชุดนี้ว่า “ชุดยูกาตะ” นั่นเอง การสวมใส่ชุดยูกาตะก็เริ่มเป็นที่นิยมเรื่อยมาและมักจะสวมใส่ในเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลในหน้าร้อน แต่จะไม่ใส่ไปในพิธีการที่สำคัญต่างๆ

ความหมายและลักษณะเด่นของชุดกิโมโนและชุดยูกาตะในยุคปัจจุบัน

ชุดกิโมโน (Kimono)

คำว่า กิโมโน (Kimono) นั้นหากแปลเป็นไทยจะมีความหมายว่า เครื่องนุ่งห่มหรือเสื้อผ้าที่ใช้สวมใส่นั่นเอง กิโมโนนั้นเป็นชุดประจำชาติของชาวญี่ปุ่นมีลักษณะเด่นตรงที่มีชายเสื้อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งจะมีขั้นตอนและวิธีการสวมใส่ที่พิถีพิถันเป็นอย่างมาก เมื่อต้องสวมใส่ต้องมีผ้าคลุมที่ทับไปทับมาหลายชั้นที่มาพร้อมด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่สลับซับซ้อน ในการใส่ชุดกิโมโนในแต่ละครั้งต้องอาศัยความชำนาญและความประณีตในการสวมใส่เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังต้องเลือกสี ลวดลาย และเนื้อผ้าที่ความเหมาะสมในแต่ละครั้งที่จะสวมใส่อีกด้วย จึงนิยมใส่ในงานหรือพิธีการที่สำคัญเท่านั้น อย่างเช่น งานแต่ง พิธีจบการศึกษา เป็นต้น

ชุดยูกาตะ (Yukata)

ยูกาตะ (Yukata) มาจากคำว่า ยูกาตะบิระ (Yukatabira) ที่แปลเป็นไทยได้ว่า เสื้อผ้าชุดเดียวที่สามารถใส่หลังจากอาบน้ำ หรืออีกความหมายคือชุดคลุมอาบน้ำ แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีไว้เพื่อคลุมอาบน้ำเพียงอย่างเดียว ชุดยูกาตะนั้นนิยมสวมใส่ไปในสถานที่ต่างๆ และสวมใส่ในโอกาสต่างๆ อีกมากมาย ตามจริงชุดยูกาตะนั้นถือว่าเป็นกิโมโนอีกประเภทหนึ่งที่มาในรูปแบบชุดลำลองที่ไม่เป็นทางการมากนัก เพราะทั้งเนื้อผ้า การสวมใส่ ลวดลายของชุดเองก็มีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อนมากเท่าชุดกิโมโนที่ต้องใช้ในงานพิธีต่างๆ และด้วยความเป็นชุดลำลองนี้เองจึงมักจะเห็นชาวญี่ปุ่นใส่ชุดยูกาตะกันได้บ่อย โดยเฉพาะหน้าร้อนในเทศกาลต่างๆ เป็นต้น

ความแตกต่างที่คล้ายคลึงกันของชุดกิโมโนและชุดยูกาตะ

ถึงแม้ว่ารูปร่างและลักษณะบางอย่างหากมองเผินๆ ชุดกิโมโนและชุดยูกาตะจะมีความเหมือนกันอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีรายละเอียดที่จะช่วยแยกความแตกต่างของชุดทั้งสองออกจากกันดังนี้

เนื้อผ้าชองชุด

แม้ว่าชุดกิโมโนและชุดยูกาตะจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันแต่ชุดยูกาตะนั้นเป็นชุดที่นิยมใส่ในช่วงหน้าร้อนเนื้อผ้าที่ใช้ทำชุดนั้นจึงเป็นเนื้อผ้าที่มีความบางเบาและซึมซับเหงื่อได้ดีจึงมักจะใช้ผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติอย่างเช่น ผ้าฝ้าย ผ้าป่าน หรือผ้าโพลีเอสเตอร์ที่ต้องมีคุณสมบัติหลักคือความบางเบาสวมใส่สบาย ซึ่งจะแตกต่างจากชุดกิโมโนที่ต้องใช้เนื้อผ้าหลากหลายชนิดหรือผ้าที่มีความละเอียดและราคาแพงอย่างผ้าไหมนั้นมาทำ เพราะต้องคำนึงถึงโอกาสและฤดูกาลในการใส่ชุดกิโมโนแต่ละครั้งเป็นสำคัญ

การสวมใส่

ในชุดกิโมโนนั้นนอกจากจะทำมาจากผ้าที่มีรายละเอียดและชิ้นส่วนต่างๆ ที่มากแล้วการสวมใส่ก็มีรายละเอียดมากด้วยเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยในการสวมใส่ อีกทั้งขั้นตอนการใส่ชุดกิโมโนนั้นค่อนข้างมีความซับซ้อนและต้องอาศัยความประณีตเป็นอย่างมากผู้ที่ช่วยในการสวมใส่ชุดกิโมโนจึงจำเป็นต้องผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ในการสวมใส่ชุดกิโมโนเป็นอย่างดี ซึ่งแตกต่างจากชุดยูกาตะที่มีความลำลองมากกว่า ประกอบกับเนื้อผ้าที่มีความบางเบาและชิ้นส่วนที่น้อยกว่าทำให้สามารถสวมใส่ได้ด้วยตัวเอง

ทรงผมและเครื่องประดับ

ถึงแม้จะไม่มีข้อห้ามหรือหลักการปฏิบัติที่ชัดเจน แต่โดยทั่วไปชุดกิโมโนนั้นจะมีรายละเอียดในด้านหลังของชุดที่ค่อนข้างมาก และมีการปล่อยให้เห็นช่วงคอด้านหลังเล็กน้อยจึงนิยมเกล้าผมขึ้นเพื่อความสุภาพเรียบร้อย อีกทั้งยังช่วยให้สามารถใส่เครื่องประดับผมได้หลากหลายรูปแบบ ส่วนในชุดยูกาตะที่เป็นชุดที่มีความลำลองกว่านั้นสามารถทำผมได้ตามความชอบและนิยมใส่เครื่องประดับให้เข้ากับชุดร่วมด้วย

โอบิที่ใช้และการเลือกโอบิ (Obi)

ชุดกิโมโนเป็นชุดที่ต้องเลือกโอบิ (Obi) ให้มีความเหมาะสมทั้งสีสัน สถานที่ที่ต้องไป และฤดูกาลต่างๆ เพราะรายละเอียดที่มากมายเช่นนี้ก่อนเลือกใช้โอบิจึงต้องมีความรู้หรือมีผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำอีกทั้งโอบิของกิโมโนนั้นมีมีวิธีการใส่ที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนใส่ด้วยตัวเองลำบากจึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยผูกให้ และโอบินั้นก็ยังมีหลายชิ้นส่วนร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็น โอบิอาเงะ (Obiage ผ้าโอบิคาดด้านบน) และ โอบิชิเมะ (Obishime สายคาดโอบิตรงกลาง) เป็นต้น ส่วนในชุดยูกาตะโดยทั่วๆ ไปนั้นมักใช้ฮังฮาบะโอบิเป็นผ้าคาดเอวเพื่อให้มีความสะดวกสบายและไม่รู้สึกอึดอัดในเวลาที่ใช้ อีกทั้งโอบิในชุดยูกาตะนั้นไม่ต้องมีพิธีการหรือวิธีที่ยุ่งยากมากนักจึงสามารถผูกได้ด้วยตัวเอง

รองเท้าและถุงเท้า

รองเท้าที่ใช้กับชุดกิโมโนคือรองเท้าโซริ(Zori) มีลักษณะเป็นรองเท้าคีบส้นเตี้ยโดยที่พื้นของรองเท้าโซรินั้นต้องมีความตันไม่เป็นซี่ๆ วัสดุที่ใช้ในการทำรองเท้าโซริมีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเชือกฝางนำมาสาน พลาสติก หรือจะเป็นแบบผ้าที่มีการปักหรือมีลวดลายของผ้าให้เข้ากับชุดกิโมโนที่สวมใส่อยู่ เพราะจะช่วยให้ชุดที่สวมใส่อยู่มีความเป็นทางการเพิ่มมากขึ้น และการใส่รองเท้าโซริในชุดกิโมโนนั้นจะต้องสวมถุงเท้าแบบแยกนิ้วหัวแม่เท้าที่เรียกว่าทาบิ (Tabi) ทุกครั้งอีกด้วย

รองเท้าสำหรับชุดยูกาตะนั้นจะมีความลำลองมากกว่าซึ่งโดยทั่วไปมักจะใส่กับรองเท้าเกะตะ(Keta) หรือที่หลายๆ คนเรียกว่ารองเท้าเกี๊ยะ เป็นรองเท้าแบบคีบพื้นรองเท้าทำมาจากไม้ ตรงพื้นของรองเท้ามีความสูงและจำนวนขาของรองเท้าแตกต่างกันออกไปเช่น เกะตะขาเดียว เป็นต้น ชุดยูกาตะนั้นจะใส่รองเท้าโดยที่ไม่สวมถุงเท้าเพื่อความสะดวกสบายและมีความลำลองมากกว่าชุดกิโมโนโดยทั่วไปนั่นเอง

โอกาสที่ใช้สวมใส่

ในปัจจุบันถึงแม้ชุดกิโมโนจะเป็นอีกหนึ่งชุดประจำชาติของชาวญี่ปุ่น แต่เนื่องด้วยอิทธิพลของแฟชั่นการสวมเสื้อผ้าแบบสากลของชาวตะวันตกที่กระจายตัวเข้ามาและความยุ่งยากและซับซ้อนของการใส่กิโมโน ทำให้ในทุกวันนี้ชุดกิโมโนไม่ได้สวมใส่ในทุกวันอย่างเช่นสมัยก่อน แต่มักจะใช้สวมใส่ในโอกาสและพิธีการต่างๆ ที่สำคัญเท่านั้น เช่น พิธีจบการศึกษา การแต่งงาน งานศพ ฯ

ส่วนชุดยูกาตะนั้นในยุคปัจจุบันด้วยความคล้ายคลึงกับชุดกิโมโนบวกกับที่คนนิยมใส่ชุดนี้ในหน้าร้อน ชุดยูกาตะจึงเปรียบเสมือนชุดกิโมโนในหน้าร้อนของชาวญี่ปุ่นที่มักใส่ไปในเทศกาลต่างๆ แต่ยังไม่สามารถใส่ไปในงานพิธีสำคัญต่างๆ ได้นั่นเอง

ความเชื่อและการเลือกลวดลายของชุดเพื่อเสริมสิริมงคล

ลวดลายที่ปรากฏบนชุดกิโมโนและชุดยูกาตะที่สวมใส่นอกจากช่วยเพิ่มความสวยงามให้แก่ชุดแล้ว ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งที่จะสื่อให้เป็นความมงคลแก่ผู้ที่สวมใส่ได้อีกด้วยดังเช่นลวดลายตัวอย่างดังต่อไปนี้

ลายดอกซากุระ

ดอกซากุระเป็นดอกไม้ประจำชาติของคนญี่ปุ่นและยังมีความเชื่อที่ยาวนานสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเชื่อกันว่าที่ต้นของดอกซากุระนั้นมีเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์สิงสถิตอยู่ เพราะคำว่า ซา ของคำว่าซากุระนั้นในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “ข้าว” และคำว่า กุระ นั้นหมายถึง สถานที่ที่เทพเจ้าสิงสถิตอยู่ ด้วยเหตุผลนี้ลายซากุระจึงหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งดอกซากุระนั้นจะบานในช่วงฤดูใบไม้ผลิดอกซากุระจึงสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่ดีได้อีกด้วย

ลายนกกระเรียน

นกกระเรียนถือว่าเป็นสัตว์มงคลในตำนานของชาวญี่ปุ่นและยังเป็นนกที่จะมีคู่เพียงแค่ตัวเดียวในชีวิต เมื่อนำมาทำลวดลายของชุดกิโมโนและชุดยูกาตะแล้วจะสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์พร้อมอายุที่ยืนยาว และยังส่งเสริมให้ความรักหวานราบรื่น จึงมักจะใช้ลายนกกระเรียนนี้บนชุดกิโมโนในงานแต่งงานเพื่อให้สามีและภรรยามีชีวิตรักที่มั่นคงและราบรื่นตลอดไป

ลายกระดองเต่า

เป็นลายรูปเรขาคณิตแบบหกเหลี่ยมที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมองไปคล้ายกับกระดองของเต่า ซึ่งเต่านั้นเป็นสัตว์มงคลอีกชนิดหนึ่งของญี่ปุ่นที่สื่อถึงสุขภาพแข็งและอายุยืนยาว จึงเป็นอีกหนึ่งลายที่นิยมนำมาใช้เพราะนอกจากจะเป็นลวดลายที่เรียบง่ายแล้วยังมีความหมายที่ดีมากอีกลายหนึ่ง

ลายผีเสื้อ

ผีเสื้อนั้นเป็นสัตว์ที่สวยงามและการเจริญเติบโตกว่าจะมาเป็นผีเสื้อนั้นมีความพิเศษตั้งแต่เกิดเป็นหนอนมาเป็นดักแด้จนกลายมาเป็นผีเสื้อที่สวยงาม ลายผีเสื้อนี้จึงสื่อความหมายถึงความงดงามของผู้หญิง และในภาษาญี่ปุ่นผีเสื้อนั้นออกเสียงว่า Chou ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า chō ที่แปลว่ายืนยาวในภาษาญี่ปุ่น จึงสื่อความหมายถึงอายุที่ยืนยาวได้อีกอย่างหนึ่งด้วย

ลายดอกเบญจมาศ

ดอกไม้ที่มีความสวยงามสามารถออกดอกได้ในหลายฤดูกาล มีลักษณะเป็นวงกลมคล้ายพระอาทิตย์อีกทั้งยังส่งกลิ่นหอม ลายดอกเบญจมาศจึงสื่อความหมายถึงการช่วยทำการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทำให้ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย และมีจิตใจที่เข้มแข็งช่วยส่งเสริมให้สุขภาพดีมีอายุที่ยืนยาว

ข้อควรระวังของการใส่ชุดกิโมโนและชุดยูกาตะ

ชุดด้านซ้ายต้องอยู่ด้านบนเสมอ

เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บุคคลที่ต้องสวมใส่ควรสำรวจดูทุกครั้งว่าเมื่อใส่ชุดเสร็จแล้วนั้นชุดด้านซ้ายควรอยู่บนสุดเสมอ เพราะการใส่ชุดกิโมโนหรือยูกาตะที่ใช้ด้านขวาทับด้านซ้ายนั้นเป็นวิธีการแต่งชุดให้แก่ศพเท่านั้น นอกจากความเชื่อที่จะไม่เป็นมงคลแก่ผู้ที่สวมใส่แล้วอาจจะทำให้คนญี่ปุ่นตกใจได้

โอบิ (Obi) ต้องอยู่ด้านหลังเสมอ

เพราะในญี่ปุ่นสมัยก่อน ผู้หญิงที่ใช้โอบิมาผูกปมไว้ข้างหน้านั้นจะเป็นผู้หญิงที่ทำงานย่านโคมแดง (Red-light-district) เท่านั้น จึงมีเฉพาะหญิงสาวที่ทำงานอยู่ที่นั่นเท่านั้นถึงจะเอาโอบิมาอยู่ด้านหน้า ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีการเข้าใจผิดจึงควรใส่โอบิให้ถูกต้องทุกครั้ง

โอกาสที่ใช้ในการสวมใส่

ชุดกิโมโนและยูกาตะนั้นมีรายละเอียดเรื่องสีสัน ฤดูกาล และระเบียบในงานพิธีต่างๆ มาเกี่ยวข้อง จึงควรศึกษาหาข้อมูลและทำการเลือกสวมใส่ให้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้แต่งตัวได้อย่างสุภาพเรียบร้อย มีความเหมาะสมกับสถานที่และสถาณการณ์ต่างๆ ที่ต้องออกไปพบเจอ

ชุดกิโมโนและชุดยูกาตะนอกจากจะเป็นชุดประจำชาติของญี่ปุ่นที่มีความสวยงามอย่างมากแล้ว ชุดเหล่านี้ยังเรียงร้อยวัฒนธรรมความเชื่อ ความละเอียดและมีแบบแผนต่างๆ ของชาวญี่ปุ่นไว้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จึงไม่แปลกใจเลยว่าชุดประจำชาติญี่ปุ่นนี้จะยังคงสืบทอดกันไปรุ่นต่อรุ่นได้อย่างยาวนานโดยที่ไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมญี่ปุ่นเลย และยังเป็นสิ่งที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอีกด้วย

Pick up

บทความแนะนำ

  1. เพลิดเพลินไปกับซากุระที่เกียวโต แนะนำสถานที่ชมดอกไม้ เครื่องแต่งกายและโรงแรมที่ใกล้กับสถานที่ชมดอกไม้

  2. แนะนําสถานที่ชมดอกไม้ในภูมิภาคกลางและตะวันตกของญี่ปุ่น

  3. แนะนำ 10 เทศกาลน่าสนใจในญี่ปุ่นช่วงฤดูใบไม้ผลิ อากาศเย็นสบาย เหมาะกับการท่องเที่ยวแบบชิลๆ

บทความล่าสุด

  1. การเปรียบเทียบการจัดอันดับตัวละครยอดนิยมของซานริโอ : ความแตกต่างระหว่างญี่ปุ่นและไทย

  2. ทำความเข้าใจกับความสะดวกสบายของคำว่า “ซุมิมะเซ็น” ในภาษาญี่ปุ่น

  3. พาเที่ยวเกาะโชโดชิมะ (Shodoshima Island) สัมผัสธรรมชาติแบบชิลๆ

  4. แนะนำเมนูอาหารน่าทานสำหรับช่วงฤดูหนาวของญี่ปุ่น อบอุ่นทั้งร่างกายและดีต่อใจ

  5. แนะนำร้านทาโกะยากิที่ต้องไปทานให้ได้ หากไปเยือนโอซาก้า

  6. แนะนำย่านช็อปปิ้งโอสึ (Osu Shopping Street) ช็อปสนุกกันที่ย่านอากิฮาบาระแห่งเมืองนาโกย่า

  7. สกีรีสอร์ทนิเซโกะ (Niseko Ski Resort) แหล่งเล่นสกีที่มีชื่อเสียงระดับโลก กับการผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

  8. แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นในช่วงฤดูหนาว

  9. แนะนำ 9 สถานที่ท่องเที่ยวที่สามารเพลิดเพลินได้ แม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน

  10. แนะนำเมนูอาหารที่สามารถเดินพร้อมทานไปด้วยกันได้ในย่านอาซากุสะ

TOP