คันไซ

เกอิชา VS โออิรัน ( ศิลปิน VS โสเภณี)


ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อพูดถึงญี่ปุ่นแล้วอาจมีสิ่งหนึ่งที่เราต้องนึกถึงกัน นั่นก็คือโออิรัน (Oiran) และเกอิชา (Geisha) แต่พอใช้ประโยคแบบนี้แล้วสับสนกันน่าดูเลยนะคะ จากที่อาจจะมีการสับสันกันอยู่แล้วว่า เอ๊ะ! ใครเป็นโสเภณีกันแน่ หรือว่าเป็นทั้งคู่เลยวันนี้เราจะมีไขข้อข้องใจกันค่ะว่าทั้งเกอิชาและโออิรัน เป็นใคร มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

เกอิชา (Geisha) คืออะไร

https://hamarepo.com/story.php?story_id=6477

เกอิชาคือ…หญิงที่ประกอบอาชีพที่เก่าที่สุดในโลก (โสเภณี) ที่มีกายไว้ปรนเปรอชาย หญิงคนไหนอยากเป็นเกอิชาก็แค่นุ่งห่มกิโมโนแต่งกายให้เหมือนกับเกอิชา ถ้าพูดถึงความรู้ก็คงไม่ต้องมีอะไรเป็นเพียงหญิงที่สวยแต่รูปจูบไม่หอมเท่านั้น และชายก็สามารถไปหาเกอิชาได้เหมือนกับการไปเที่ยวร้านเหล้าทั่วไป หรือหากจะอยากมีเมียน้อยเพื่อแก้เหงาก็แค่เลือกเกอิชาไว้สักคนนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย? หากคุณกำลังคิดเช่นนี้อยู่ คุณกำลังคิด…ผิดค่ะ!

แท้จริงแล้วนั้น เกอิชา แปลว่า บุคคลแห่งศิลปะ หรือ ศิลปิน ที่มาจากตัวอักษรคันจิ 2 ตัว คือ “เก” (芸) หมายถึงศิลปะ หรือ ความบันเทิง และ “ชา” (者) หมายถึงบุคคล

เกอิชาเป็นศิลปินหญิงแห่งการแสดงซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในญี่ปุ่น โดยมักจะแต่งกายอย่างประณีตในชุดกิโมโนแบบดั้งเดิมและมีกิริยามารยาทที่นอบน้อม พวกเธอเป็นผู้ให้ความบันเทิงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยตามประเพณีแล้วจ้างมาเพื่อรับรองแขกที่โรงน้ำชา งานเลี้ยง และโอกาสอื่น ๆ เกอิชาจะร้องเพลง เต้นรำ แสดงดนตรีเช่นซามิเซ็น จัดพิธีชงชา คอยปรนนิบัติ รินเหล้าให้ด้วยความยกย่องนับถืออย่างนอบน้อม พร้อมชวนคุยให้เพลิดเพลินและมีความรู้ไม่เพียงแต่เรื่องในอดีตเท่านั้น แต่ยังรู้เรื่องซุบซิบร่วมสมัยด้วย เกอิชาสามารถทำให้ชายที่อยู่ด้วยรู้สึกเหมือนเป็นดวงดาวที่อยู่ศูนย์กลางของจักรวาลที่ได้รับความสนใจและมีความสำคัญ แม้ว่าจะเป็นการชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม เพราะพวกเธอมีการเรียนรู้และความเข้าใจในศิลปะแห่งการสนทนาหรือเรียกสั้นๆว่าพวกเธอมีวาทะศิลป์อันยอดเยี่ยมนั่นเอง และทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกิดจากการเรียนรู้และฝึกฝนเป็นระยะเวลาหลายปีและจะไม่มีเรื่องกามารมณ์มาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเกอิชามีหน้าที่สร้างสีสันในงานเลี้ยง โดยในส่วนของการแสดงนั้นจะแบ่งออกเป็นหน้าที่หลัก ๆ ดังนี้

ทาจิคาตะ คือเกอิชาที่มีหน้าที่ร่ายรำ

IMG BY : geishaofjapan

จิคาตะ คือนักดนตรี มีหน้าที่ขับร้องและเล่นเครื่องดนตรี เช่น ชามิเซ็น ขลุ่ย กลอง ส่วนไทโกะโมจิ คือ เกอิชาที่มีหน้าที่สร้างบรรยากาศให้ครึกครื้นด้วยการเล่นตลกหรือการใช้คำพูดต่าง ๆ
ปัจจุบันอาชีพนั้นเกอิชายังไม่ได้สูญหายไปจากสังคม นั่นเป็นเพราะเหล่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่หรือแม้แต่นักการเมืองคนสำคัญยังคงเป็นลูกค้าขาประจำกันเพื่อพูดคุยกันตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนไปถึงเรื่องที่ใหญ่โต เพราะการพูดคุยกันในสถานที่และบรรยากาศที่ผ่อนคลายหลบจากความเคร่งเครียดระเบียบประเพณีอันเข้มงวดของชาวญี่ปุ่นมักจะทำให้การเจรจาเกิดความผ่อนคลายและทำข้อตกลงกันง่ายขึ้นตามไปด้วย โดยไม่ว่าเรื่องราวที่ลูกค้าพูดคุยเจรจากันสำคัญเพียงไร แต่เกอิชาก็ไม่อาจปริปากพูดเรื่องราวเหล่านั้นกับผู้ใดได้ทั้งสิ้นเพราะหนึ่งในคุณสมบัติที่เกอิชาทุกคนพึงมีคือการเก็บความลับของลูกค้า

การคิดค่าบริการของเกอิชานั้นนับตั้งแต่การเตรียมตัว แต่งหน้าแต่งตัว ต้อนรับ บริการลูกค้าด้วยศิลปะไม่ว่าจะเป็นฟ้อนรำ ร้องเพลง เล่นดนตรี การสนทนากับลูกค้า การรินเหล้ารินน้ำชาเสิร์ฟอาหารต่าง ๆ ส่งลูกค้ากลับที่รถ กระทั่งเกอิชาเดินกลับมายังร้าน รวมค่าบริการแล้วคิดเป็นหลายหมื่นบาทไทยเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของเกอิชา

IMG BY : pontocho-masunoya

การจะเป็นเกอิชาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายต้องเริ่มจากการเป็น ไมโกะ หรือ เกอิชาฝึกหัด ที่ต้องมีการร่ำเรียน และได้รับการฝึกทักษะที่หลากหลายอันเข้มข้นเป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อประกอบอาชีพเกอิชาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การฟ้อนรำ ร้องเพลง เล่นดนตรี ดีด สี ตี เป่า ทั้งยังต้องเรียนรู้ศิลปะอื่นไม่ว่าจะเป็น การชงชา จัดดอกไม้ วาดรูป แต่งโคลงกลอน เขียนอักษรด้วยพู่กันแบบโบราณ การละเล่นที่แสดงถึงเชาว์ความรู้ ภาษาต่างประเทศนั้นไมโกะก็ต้องมีการเรียนรู้ด้วยนะคะ

แล้วไมโกะจะมาจากไหนกันนะ…

IMG BY : plus.kyoto.travel

สมัยก่อนช่วงส่งครามในญี่ปุ่นนั้นจะมีเด็กที่หลง พลัดพรากจากพ่อแม่ เจ้าของร้านอาหารมาพบเข้าก็จะนำเด็ก ๆ เหล่านั้นมาเลี้ยง เพราะถ้าหากปล่อยไว้ก็คงไม่รอดแน่ ๆ ซึ่งเจ้าของก็จะให้มาอยู่ร้านอาหาร แต่จะมานั่ง ๆ นอน ๆ ก็ไม่ได้ ก็จะต้องมีการช่วยงานที่ร้าน เช่น ยกอาหาร เหล้ายา ไปบริการให้กับลูกค้า ฟ้อนรำ เล่นดนตรี เพื่อเอาอกเอาใจลูกค้ากระเป๋าหนัก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเหล่าพ่อค้าที่นิยมเข้ามาในร้านอาหารเหล่านี้ หลังจากสงครามจบลงไปแล้ว เจ้าของร้านต่าง ๆ จึงเปลี่ยนเป็นใช้เงินเพื่อซื้อเด็กเหล่านี้มาจากพ่อแม่แล้วก็รับเด็กมาเลี้ยงอบรมดูแล สอนให้เรียนรู้ตั้งแต่กิริยามารยาทต่าง ๆ การดูแลเอาใจใส่ลูกค้าในแบบที่สตรีจะพึงปฏิบัติต่อบุรุษ การลุก นั่ง หมอบคลาน การรินเหล้า รินน้ำชา ฟ้อนรำ เล่นดนตรีโดยเฉพาะซามิเซ็น เมื่อชำนาญแล้วจึงจะเริ่มออกมาทำงานตามร้านน้ำชาหรือร้านอาหารได้ โดยมีความเชื่อกันว่าคนที่จะเก่งศิลปะ ฟ้อนรำได้นั้นจะต้องเริ่มฝึกใน วันที่ 6 เดือน 6 เมื่ออายุได้ 6 ปี

ถึงไมโกะนั้นจะเป็นเพียงเกอิชาฝึกหัดแต่ก็ใช่ว่าจะมีการเตรียมตัวหรือการแต่งตัวที่ง่าย ๆ เพราะยังไงก็ต้องมีการแต่งตัวที่ยุ่งยากพอสมควรเรียกง่าย ๆ ว่าถ้าน้ำหนักตัวของไมโกะ 45 กิโลกรัม หากแต่งตัวเสร็จแล้วนั้นน้ำหนักของเธอจะพุ่งขึ้นไปถึง 65 กิโลกรัมกันเลยทีเดียว เกริ่นมาขนาดนี้ลองมาดูวิธีการเตรียมตัวคร่าว ๆ ของไมโกะกันเลยค่ะ

การเตรียมตัวของเหล่าไมโกะ

IMG BY : optbookmark

เริ่มจากการหวีผมให้สลวยและจัดแต่งทรงผมให้เข้ารูปสวยงาม การแต่งหน้านั้นก็จะมีการทาแป้งให้ขาวนวลโดยเฉพาะส่วนใบหน้า ต้นคอ รวมไปถึงหลังมือ และทาปากให้มีความน่ารัก ส่วนชุด ก็จะมีการสวมใส่กิโมโนที่ใส่รวมกันแล้ว 4-5 ตัว โดยมีแขนเสื้อยาว ใช้ผ้าพันเอวที่เรียกว่า “โอบิ” ซึ่งมีความสวยและหนาเป็นพิเศษโดยผูกไว้ด้านหลัง เสร็จแล้วจึงใส่ถุงเท้าที่ทำด้วยผ้าขาว และสวมรองเท้าไม้ที่สูงมากถึงจะได้ฤกษ์ออกไปปฏิบัติงานได้

ลองจินตนาการตามแล้วแอบนึกถึงดักแด้เหมือนกันนะคะ เป็นไมโกะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริง ๆ และการที่ไมโกะจะเลื่อนขั้นเป็นเกอิชาได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ชำนาญทั้งศาสตร์และศิลป์พร้อมทั้งประสบการณ์ เมื่อเป็นเกอิชาแล้วนั้นก็จะเลิกนุ่งห่มชุดแบบไมโกะเปลี่ยนเป็นนุ่งห่มชุดกิโมโนธรรมดาที่ถ้าคนนอกมองเข้ามาก็เกือบจะไม่รู้เลยว่านี่คือเกอิชา

และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมค่าบริการลูกค้าของเกอิชาจึงมีราคาที่สูง เพราะกว่าตัวเกอิชาเองจะเรียนรู้จนกระทั่งมีความชำนาญเชี่ยวชาญกลายเป็นศิลปินได้ และกว่าที่เจ้าของร้านจะอบรมเลี้ยงดูไมโกะได้นั้นต้องใช้เวลาและเงินทองในจำนวนที่ไม่ได้น้อยเลย

ประวัติของเกอิชา

IMG BY : izuspamirai

โดยปกติผู้คนจะเข้าใจว่าเกอิชาจะเป็นเพศหญิง แต่แท้จริงแล้ว ในอดีตช่วงศตวรรษที่ 13 เกอิชานั้นเป็นผู้ชายซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามไทโคโมจิ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและให้ความบันเทิงแก่เจ้านายของตน ในเวลาต่อมาศตวรรษที่ 16 ชายเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการสร้างบทสนทนาเพื่อให้เกิดอารมณ์ขันที่มีความคล้ายคลึงกับนักเล่าเรื่องมากขึ้น และเริ่มมีเกอิชาผู้หญิงขึ้นในศตวรรษที่ 17 และในปี 1750 เกอิชาผู้หญิงเป็นที่นิยมและมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย

IMG BY : note

บทบาทของเกอิชาในตอนนั้นคือนักร้อง ผู้ให้ความบันเทิง แต่บทบาทของผู้เล่นดนตรีชามิเซ็นจะมีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีเครื่องร้องคาราโอเกะ ดังนั้นใครสักคนที่มีความสามารถทางด้านการดนตรีที่ทำให้บรรยากาศมีชีวิตชีวาจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามาก และนี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลทำให้พวกเธอสามารถสร้างหารายได้และสร้างอาชีพได้

เดิมทีเกอิชาเป็นหญิงผู้ช่วยของโออิรันซึ่งโสเภณีชั้นสูงที่อาศัยอยู่ในย่านบันเทิงของเมืองในช่วงยุคเอโดะ (1603-1886) และเนื่องจากโสเภณีกลัวว่าเกอิชาจะขโมยลูกค้าของตน จึงมีการวางระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้เกอิชาสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับลูกค้า ซึ่งพวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้นั่งใกล้แขกด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้อุปถัมภ์ที่ไปเยี่ยมโสเภณีค่อย ๆ เริ่มหันมาสนใจเกอิชาที่มีราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ในสังคมมากขึ้น จึงทำให้ในช่วงปี 1800 เกอิชาส่วนใหญ่ได้เข้ามาแทนที่โออิรัน เมื่อความนิยมของโออิรันลดลงในสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) และเกอิชาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากพวกเขากลายเป็นผู้ให้การต้อนรับและความบันเทิงที่สำคัญในงานเลี้ยงอาหารค่ำสำหรับบริษัทขนาดใหญ่และนักการเมือง ความนิยมของเกอิชาเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี ค.ศ. 1920 มีเกอิชามากถึง 80,000 คน ทั่วประเทศญี่ปุ่น

เวลาต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้เกอิชามีจำนวนที่ลดลง และสิ่งที่ลดลงไปอีกไม่ใช่แค่จำนวนแต่ยังเป็นบทบาทและศักดิ์ศรีของพวกเธอ ในช่วงนี้เองที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเกอิชาเปลี่ยนไปกลายเป็นโสเภณี เนื่องจากโสเภณีเป็นที่นิยมในหมู่ทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกอิชาก็เป็นสัญลักษณ์ของความงามและความสง่างามเสมอมา ดังนั้นเด็กผู้หญิงที่เป็นโสเภณีจำนวนมากที่สวมชุดกิโมโนประกาศตัวเองว่าเป็น “เกอิชา” จึงทำให้คำว่าเกอิชาเป็นเหมือนกับหญิงสาวผู้ค้าประเวณี

ในปัจจุบันนี้ เหล่าเกอิชายังมีความสำคัญต่อการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น การฝึกหัดเริ่มตั้งแต่อายุ 14 ปี หรือ 15 ปี ที่ต้องใช้เวลากว่า 5 ปี ก่อนที่หญิงสาวจะกลายเป็นเกอิชาอย่างเต็มตัว และเมื่อเกอิชาแต่งงาน พวกเธอก็จะออกจากวงการการเป็นเกอิชา ส่วนผู้ที่ไม่แต่งงาน พวกเธอมักจะเกษียณกลายเป็นเจ้าของร้านอาหาร ครูสอนดนตรี ครูสอนเต้นรำ หรือครูฝึกเกอิชา

โออิรัน (Oiran) คืออะไร

https://dtimes.jp/post-543816/attachment-0-21181/

หญิงงามของเมืองหรือโสเภณีชั้นสูงที่ให้ความสุขมากกว่าเรื่องทางเพศและทางกาย แต่ยังเป็นผู้ที่ให้ความสุขทางใจได้อีกด้วย เพราะเธอไม่ได้ขายแต่เพียงเรือนร่างอันงดงามแต่เธอยังมีพร้อมทั้งความรู้ความสามารถด้านศิลปะ สติปัญญา การสนทนา และการบริการลูกค้าที่แทบไม่ต่างอะไรจากเกอิชา ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นโสเภณีแต่ใช่ว่าเธอจะเป็นเหยื่อที่รอให้เสือมาขย้ำ เพราะจริง ๆแล้วจะเรียกเธอว่าเสือที่สามารถเลือกเหยื่อเองได้ก็ไม่น่าผิด แล้วถ้าจะนอนกับเธอเงินซื้อไม่ได้นะคะ…ถ้ามันไม่มากพอ! เพราะการจะเป็นโสเภณีชั้นสูงอย่างพวกเธอนั้นก็ใช่ว่าจะง่าย แล้วคนที่จะมาซื้อบริการของเธอนั้นจะทำได้อย่างง่าย ๆ ได้อย่างนั้นหรือ ฝันไปเลยค่ะ!

Oiran มาจากการย่อประโยค “Oira no tokoro no nēsan” (おいらの所の姉さん) แปลว่า”สาวที่บ้านเรา (ของฉัน)

IMG BY : studio-esperanto

โออิรันถือเป็นประเภท “หญิงแห่งความสุข” หรือโสเภณีชั้นสูงในสมัยเอโดะ (1600 – 1868) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากโสเภณีที่ขายเรือนร่างทั่วไปที่ถูกเรียกว่า “ยูโจ” เพราะพวกเธอคือผู้ที่ให้ความบันเทิงเป็นหลักและได้รับความนิยมอย่างมากในซ่องโยชิวาระและย่านบันเทิงของเอโดะ การบริการของโออิรันเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีความพิเศษเฉพาะตัวและมีราคาแพง โดยปกติโออิรันจะให้ความบันเทิงแก่ชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้น โดยได้รับฉายาว่า “เคเซอิ” โออิรันหลายคนกลายเป็นคนดังทั้งในและนอกพื้นที่การบริการ เพราะทั้งศิลปะและแฟชั่นการแต่งตัวชุดของกิโมโนที่ชั้นนอกสุดมักจะเป็นเสื้อผ้าผ้าไหมที่มีการออกแบบที่วิจิตรบรรจงแบบดั้งเดิมและเป็นสิริมงคล เช่น มังกร ผีเสื้อ รอนเดลแบบอาหรับ ต้นสน พลัม และไม้ไผ่ ทอและปักด้วยด้ายสีทองและเงิน มีวิธีการคาดเข็มขัดและทรงผม ไปจนถึงเครื่องประดับอย่างหวีและเครื่องประดับผม จนไปถึงร้องเท้า เกี๊ยะไม้เพาโลเนียสูงถึง 20 ซม. อันหรูหรา ความงดงามของพวกเธอนั้นถือว่าเป็นผู้สร้างกระแสนิยมหรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นผู้นำแฟชั่นนั่นแหละค่ะ พวกเธอมักถูกวาดภาพด้วยภาพพิมพ์แกะไม้อุกิโยะ

นอกจากนี้ โออิรันยังถูกคาดหวังให้มีความเชี่ยวชาญในศิลปะดั้งเดิมของการร้องเพลง การเต้นรำแบบคลาสสิก และดนตรี รวมถึงความสามารถในการสนทนากับลูกค้าระดับสูงและภาษาที่เป็นทางการ และด้วยเหตุนี้ลักษณะทางวัฒนธรรมของประเพณี เครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า การร้องเพลงและการเต้นรำของโออิรันจึงยังคงได้รับการอนุรักษ์มาจนถึงทุกวันนี้

IMG BY : sohu

ลูกค้าที่ต้องการจะจ้างโออิรันไม่สามารถไปเจรจากับโออิรันที่ร้านน้ำชาได้โดยตรง ลูกค้าต้องส่งข้อมูลผ่านคนกลางเท่านั้น และจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเพื่อพิสูจน์ว่ามีเงินและเป็นผู้ที่มีอำนาจเพียงพอก่อน แต่ถึงแม้ลูกค้าจะมีเงินมากขนาดไหนแต่หากโออิรันไม่พึงใจแม้แต่แขนของเธอก็จับไม่ได้ เนื่องจากโออิรันสามารถเลือกลูกค้าได้ พวกเธอจึงรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของพวกเธอมาก พวกเธอจะพกมีดสั้นไว้ติดตัวตลอดเวลา หากใครจะใช้กำลังข่มขืน พวกเธอจะยอมฆ่าตัวตายเพื่อรักษาศักดิ์ศรี ดังนั้นจึงมีข้อควรปฏิบัติที่จำเป็นโดยต้องพบโออิรันอย่างน้อย 3 ครั้งก่อน จะเรียกว่าการพบกันครั้งแรก ความหลัง และความคุ้นเคย โดยในระหว่างนี้โออิรันจะตัดสินใจว่าลูกค้าคู่ควรกับการบริการเธอหรือไม่

ข้อปฎิบัติที่จำเป็นในการเข้าพบโออิรัน

IMG BY : kokoro-maiko

การพบกันครั้งแรก

การพบกันครั้งแรกเป็นการสร้างความประทับใจ ลูกค้าต้องทำให้โออิรันเห็นว่าตนมีฐานะที่ร่ำรวย โออิรันจะรักษาระยะห่างจากลูกค้านั่งอยู่บนเวที ไม่กินหรือดื่มกับพวกเขา และไม่แม้แต่จะพูดกับลูกค้า

ความหลัง

สำหรับความหลังนั้นซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการพบกันครั้งแรก โดยโออิรันจะยังต้องเฝ้าดูลูกค้า ไม่กินไม่ดื่มกับลูกค้าอยู่ แต่ในรอบนี้โออิรันจะขยับลงมาอยู่ใกล้กับลูกค้ามากขึ้น

ความคุ้นเคย

ครั้งที่สามลูกค้าจะกลายเป็น “นาจิมิ” หรือลูกค้าประจำ โออิรันถึงจะมอบชุดอาหารที่สลักชื่อไว้ที่เครื่องชามและตะเกียบให้ ซึ่งในครั้งที่สามนี้ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินให้กับโออิรัน โดยเธอจะเดินไปอย่างช้า ๆ เพื่อแสดงถึงความสง่างามและยิ่งใหญ่ของผู้ที่จ่ายค่าตัวพวกเธอ ซึ่งแต่ละครั้งที่เธอจะไปหา ลูกค้าต้องยอมจ่ายค่าพบตัวซึ่งตกที่ครั้งละ 600,000 เยน หรือราว 150,000 บาทเลยทีเดียว โดยสถานะของโออิรันกับลูกค้าก็คล้าย ๆ กับสามีภรรยา ดังนั้นหากได้เสียกันแล้วจะไม่สามารถไปยุ่งกับโออิรันคนอื่นได้ และถ้าถูกจับได้ว่าไปยุ่งกับโออิรันคนอื่นก็จะต้องจะต้องเสียเงินค่าทำขวัญให้กับพวกเธอด้วย ด้วยความยุ่งยากและสิ้นเปลืองเงินค่อนข้างมากนี้ทำให้คนธรรมดาจึงมักใช้บริการยูโจมากกว่า

จุดเริ่มต้นของโออิรัน

IMG BY : aniseblog

การเริ่มต้นของโออิรันไม่ได้ต่างจากเกอิชามากนักคือเริ่มตั้งแต่การเป็นโออิรันฝึกหัด ที่ต้องเริ่มจากการถูกส่งตัวไปอยู่ในสำนักโออิรันแต่ถ้าจะเรียกว่าแค่ถูกส่งตัวไปอยู่มันอาจจะดูเบาเกินไปเพราะส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงที่จะเอาตัวเองไปอยู่ในวงการนี้ก็เพื่อที่จะชำระหนี้ หรือเป็นเด็กผู้หญิงที่พ่อแม่แบกรับภาระหนี้สินไม่ไหวถูกขายตั้งแต่อายุเพียง 5 ปี ในกรณีของเด็กสาว จำนวนเงินที่ขายจะแตกต่างกันไปตามวันเกิด และถ้าอยู่ในชนบท จะอยู่ที่ประมาณ 400,000 เยน และถ้าเป็นลูกสาวของพวกซามูไรจะมีค่าตัวอยู่ที่ประมาณ 2,000,000 เยน โดยเราจะเรียกเด็กเหล่านี้ว่า “คามุโระ” ซึ่งโดยเริ่มต้นจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นเด็กรับใช้ ซื้อของ ดูแลโออิรัน จากนั้นเมื่อคามุโระอายุ 9 – 10 ปี จะเรียกว่า “ชินโซ” ซึ่งเป็นเด็กที่หน้าตาดีพอเหมาะสำหรับที่จะเป็นโออิรันคนต่อไป เด็กคนนั้นก็อาจจะมีโอกาสได้ร่ำเรียนศิลปะ ท่องบทกวี หรือแม้กระทั่งสรีระของเหล่าท่านชาย เด็กสาวทั้งหลายต่างต้องรีบกอบโกยความรู้และศึกษาธรรมเนียมต่าง ๆ เมื่อซินโซอายุได้ประมาณ 13 – 15 ปี เป็นเด็กสาวมีที่มีรอบเดือนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการพร้อมเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะต้องมีการเตรียมตัวเข้าสู่พิธี “มิสึอาเงะ” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นงานประมูลว่าใครจะเป็นชายคนแรกที่เป็นคนเปิดบริสุทธิ์ของเหล่าเด็กสาวที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นโออิรันอย่างสมบูรณ์ ความงาม ความสาว ความบริสุทธิ์ ที่ใคร ๆ บอกว่าประเมินค่าไม่ได้ แต่สำหรับเด็กเหล่านี้ถูกเรียกได้ว่าเป็นสินค้าสำหรับการค้า โดยที่ถูกตีราคาเป็นเงินที่ประเมินแล้วอย่างไรเสียกำไรก็ตกไปอยู่ในกระเป๋าของแม่เล้า

IMG BY : attractive-j.rezdy

หากชินโซยังไม่ผ่านพิธีมิสึอาเงะ แขกจะไม่สามารถซื้อตัวพวกเธอได้จนกว่าจะผ่านการทำพิธีดังกล่าว และถึงแม้ว่าโออิรันคนใหม่จะผ่านการเปิดบริสุทธิ์ไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าราคาเธอจะตกลงไปมากนัก เพราะมันจะขึ้นอยู่กับความงาม ฝีไม้ลายมือที่มีการฝึกปรือมาตั้งแต่ยังเด็ก รวมไปถึงพื้นดวงของแต่ละคนที่จะมีสเน่ห์ดึงดูดทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้ง เพราะการที่เธอทำให้ลูกค้าที่เป็นชนชั้นสูงกลับมาใช้บริการบ่อยแค่ไหน นั่นก็จะหมายความว่าเธอจะก้าวไปอยู่อันดับที่สูงขึ้นของร้าน เพราะการเป็นโออิรันนั้นต้องมีการชิงดีชิงเด่น เพื่อให้ได้เป็นอันดับสูง ๆ อีกที เนื่องจากโออิรันนั้นก็มีลำดับขั้นซึ่งเริ่มตั้งแต่ ฮาชิ ซึโบเนะ เฮยาโมจิ ซาชิคิโมจิ โคชิและตำแหน่งสูงสุดของโออิรันคือ ทายุ โดยผู้ที่ได้รับตำแหน่ง ทายุ จะได้รับสิทธิพิเศษที่สามารถเลือกลูกค้าและปฏิเสธลูกค้าได้

ถึงแม้เหล่าโออิรันจะสง่างามเพียงไรแต่ความฝันของพวกเธอคือการได้รับค่าไถ่หรือเงินที่ลูกค้าจ่ายค่าไถ่และได้รับอิสระ ซึ่งตามประวัติศาสตร์ก็แทบจะไม่มีคนมาจ่ายค่าไถ่ของเหล่าโออิรันเลย และมีกฎที่เรียกว่า “เน็นกิอาเกะ” ที่อนุญาตให้พวกเธอเป็นอิสระหลังจากทำงานเป็นเวลาประมาณ 10 ปี ตั้งแต่วัยรุ่นตอนปลายถึง 20 ปลาย เรียกได้ว่าเป็น 10 ปีแห่งความทุกข์ทรมาน โดยในอดีตมีโสเภณีจำนวนมากที่ติดเชื้อกามโรค ซิฟิลิส และหลายคนเสียชีวิตในวัย 20 หรือ 30 ปี เนื่องจากหลายคนป่วยด้วยการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ฆ่าตัวตายเพราะทนการลุกลามของโรคไม่ได้ หรือการทำแท้งนั่นเอง

ประวัติของโออิรัน

IMG BY : sohu

อาชีพโออิรันเกิดขึ้นในช่วงต้นสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1600–1868) ภายหลังการนำกฎหมายที่จำกัดซ่องโสเภณีไปยังย่านบันเทิงที่รู้จักกันในชื่อยูคาคุ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “สนามเด็กเล่น” ในช่วงปี ค.ศ. 1600 ได้มีการจำกัดเขตที่อยู่ของซ่องโสเภณีให้อยู่ห่างจากใจกลางของเมือง ที่ตั้งของเขตเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปหลายครั้งตลอดหลายศตวรรษ ในเวลาต่อมา ซ่องโสเภณีบางแห่งถูกปิดและผู้อยู่อาศัยก็จะถูกส่งไปทำงานในย่านโคมแดงที่ใหญ่กว่าโดย 3 เขตที่รู้จักกันดีที่สุดในประวัติศาสตร์คือชิมาบาระในเกียวโต (ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกอิชาจนถึงปี 1970) ชินมาจิในโอซาก้าและโยชิวาระในเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) เมื่อเวลาผ่านไป เขตเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นย่านที่ใหญ่โต ซึ่งมีความบันเทิงหลากหลายรูปแบบนอกเหนือจากการค้าประเวณีรวมถึงการแสดงและเทศกาล เกอิชาซึ่งมีอาชีพเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18 ก็ทำงานในเขตเหล่านี้เป็นครั้งคราวเช่นกัน

ในช่วงเวลา ค.ศ. 1850–1957 โออิรันได้ถูกลดบทบาทลงจากนางพญากลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมและยุคสมัยของสังคม การรักษารูปลักษณ์ของโออิรันไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่น อีกทั้งค่าบริการอันอันสูงลิ่วจนจับต้องแทบไม่ได้ เปรียบเทียบง่ายๆคือหากต้องการจะนอนกับเธอ 1 คืน ต้องทำงานเก็บเงินอย่างน้อย 1 เดือน ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ลดการใช้บริการของโออิรัน รวมถึงการที่พ่อค้าที่มีความมั่งคั่งมากขึ้นแต่สถานะทางสังคมของเหล่าพ่อค้าก็ยังไม่เพียงพอต่อการที่จะใช้บริการของโออิรันได้ จึงนำไปสู่การอุปถัมภ์เกอิชาที่มีการพัฒนาและเป็นที่นิยมมากขึ้นเนื่องจากเข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่แพง

ในเวลาต่อมาญี่ปุ่นจะออกกฎหมายห้ามค้าประเวณีออกมาในปี 1958 แต่ในปัจจุบัน โออิรันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ได้รับการอนุรักษ์ และถูกนำเสนอให้ชาวต่างชาติได้สัมผัส เช่น กิจกรรมการแต่งชุดกิโมโนตามแบบฉบับโออิรัน หรือเทศกาลขบวนแห่ โออิรัน โดจู ที่ยังคงจัดขึ้นในทุกๆ ปีให้ชาวต่างชาติได้รับชม

เกอิชาและโออิรัน เหมือนและต่างกันอย่างไร

IMG BY : jpsmart-club

พิจารณาเกอิชาและโออิรันจากการประกอบอาชีพ

เกอิชาประกอบอาชีพเป็นศิลปินขายงานศิลปะ แต่โออิรันประกอบอาชีพโสเภณีขายเรือนร่างรวมถึงขายงานศิลปะแบบเกอิชาด้วย

พิจารณาเกอิชาและโออิรันจากการมองด้วยสายตา

เกอิชาและโออิรันมีสิ่งที่เหมือนและแตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยหลักแล้วหากนึกถึงเกอิชาให้นึกถึงความเรียบง่ายสวยงามมองแล้วเย็นใจ หากนึกถึงโออิรันให้นึกถึงความหรูหรา สง่างาม อลังการ มองแล้วเย็นตา แต่จะบอกว่าเย็นก็คงไม่ได้ เพราะพวกเธอนั้นดูร้อนแรงเกินคำว่าเย็นไปมาก

ทรงผม

เกอิชามักทำผมให้มีความเรียบง่ายแต่ยังคงความสวยงามดังชุดกิโมโนของเธอ ซึ่งปกติแล้วเธอจะสวมวิกธรรมดาๆที่ประดับด้วยปิ่นปักผม (คันซาชิ) ที่มีความสอดคล้องกับฤดูกาลต่าง ๆ ส่วนโออิรันมักสวมวิกผมรูปโบว์ประดับด้วยปิ่นปักผม (คันซาชิ) และเครื่องประดับสีทองอื่น ๆ วิกผมและเครื่องประดับของเธอหนักถึง 10 กิโลกรัม หรือเห็นแบบนี้แล้วก็อดคิดไม่ได้นะคะว่าจริง ๆแล้วหัวและคอของโออิรันทำด้วยเหล็กหรือเปล่า เพราะแข็งแรงมาก!

กิโมโน

เกอิชาและโออิรันต้องสวมชุดกิโมโนที่มากกว่า 5 ชั้น เพียงแค่กิโมโนของโออิรันนั้นมีสีสันที่ฉูดฉาด มีความหนามากกว่า ส่วนของเกอิซานั้นกิโมโนจะทำมาจากไหม โดยกิโมโนและโอบิของเกอิชานั้นจะมีความสอดคล้องกับฤดูกาลเช่นเดียวกับปิ่นปักผมนั่นเอง

โอบิ (ผ้าคาดเอว)

นอกจากกิโมโนแล้ว โอบิหรือผ้าคาดเอวก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการแยกความแตกต่างระหว่างเกอิชาและโออิรันด้วย โดยโอบิของเกอิชาจะผูกไว้ด้านหลังเสมอ แต่โอบิของโออิรันนั้นจะผูกไว้ด้านหน้า เพื่อความสะดวกในการทำงานและความสะดวกหลังจากที่ทำงานสำเร็จแล้ว เนื่องจากการการบิดโอบิไปด้านหลังนั้นใช้เวลานานพอสมควร ถึงแม้โอบิของโออิรันจะอยู่ข้างหน้าแต่ก็ใช่ว่าจะมีคนมาถอดออกกันได้ง่าย ๆ นะคะ

การแต่งหน้า

โออิรันและเกอิชามีการแต่งหน้าสีขาวด้วยแป้งรองพื้นที่เรียกว่า “โอชิโอะ” ที่มีความเชื่อว่าจะทําให้หน้าดูสวยขึ้นเมื่อแสงส่องมากระทบใบหน้า และยังช่วยให้เห็นการแสดงออกทางสีหน้าได้ อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้า การทาหน้าสีขาวจะทําให้ใบหน้าไม่กลืนไปกับฉากและดูโดดเด่น โดยจะทาแป้งสีขาวทั่วทั้งใบหน้าและลําคอ อย่างไรก็ตามโออิรันจะมีการแต่งหน้าที่มีความขาวน้อยกว่าเกอิชา

รองเท้าและถุงเท้า (ทาบิ)

ทั้งเกอิชาและสาวโออิรันจะมีการเดินไปรอบ ๆ เมืองด้วยรองเท้าเกตะไม้แบบญี่ปุ่น (เกี๊ยะ) แต่สิ่งที่ต่างกันคือส้นรองเท้า เกตะที่สวมใส่โดยเกอิชามักจะเป็นรองเท้าส้นเตี้ยและส้นแบน ไม่ต่างจากเกตะทั่วไปที่คนญี่ปุ่นใส่กันมากนัก อย่างไรก็ตาม เกตะที่โออิรันสวมใส่มักจะเป็นส้นสูง โดยปกติแล้วความสูงของส้นรองเท้าสามารถสูงได้ถึง 20 ซม. เหตุผลที่โออิรันสวมเกตะส้นสูงก็เพื่อให้มั่นใจว่าเธอจะสูงที่สุดในขบวนพาเหรดโออิรันโดชู และเพื่อให้ผู้ชมมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สมัยก่อนผู้หญิงจะอวดผิวเปลือยในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องปกติ เกอิชาจึงสวมถุงเท้าสีขาวที่เรียกว่าทาบิเพื่อปกปิดผิวของเธอ ประเพณีนี้ปฏิบัติตามโดยชาวญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ ดังที่จะเห็นได้ว่าชาวญี่ปุ่นทุกคนมักจะคลุมผิวหนังบริเวณขาและเท้าด้วยถุงเท้า ถุงน่อง หรือกางเกงรัดรูป โออิรันไม่สวมอะไรเลยนอกจากเกอิชา แต่โออิรันก็ทาสีขาวเช่นเดียวกับเกอิชา

ถิ่นที่อยู่

ถ้าเป็นเกอิชาจะอยู่ในเขต Hanamichi ในกิออนซึ่งแบ่งออกเป็น 5 เขตด้วยกัน คือ Gion Kobu, Gion Nigashi, Gion Kamishichiken Miyagawachou Pontocho แต่โออิรันจะอาศัยอยู่ที่ย่าน โยชิวาระ แต่ในปัจจุบันอาชีพโออิรันนั้นไม่มีให้เห็นแล้ว แต่หากใครที่ต้องการชมโออิรันสามารถไปดูได้ที่ขบวนแห่โออิรัน ช่วงเทศกาลชมซากุระกลางเดือนเมษายนแถวย่านอาซาคุระได้


เกอิชาประกอบอาชีพเป็นศิลปินขายงานศิลปะแต่โออิรันประกอบอาชีพโสเภณีขายเรือนร่างรวมถึงขายงานศิลปะแบบเกอิชา เกอิชาและโออิรันมักจะถูกกล่าวขานว่าเป็นผู้ที่งดงาม สง่างาม มีความสามารถ ได้รับค่าจ้างอันแสนแพง แต่การเป็นอย่างพวกเธอนั้นไม่ได้ง่ายซึ่งอาจจะเรียกว่ายากลำบากเลยก็ว่าได้ ยิ่งถ้าใครได้ดูอนิเมะเรื่อง Demon Slayer หรือดาบพิฆาตอสูรภาคย่านเริงรมณ์ หรืออนิเมะอย่าง One Piece ภาควาโนะคุนิ จะปรากฎตัวละครที่เป็นเกอิชาและโออิรันออกมาในเรื่อง ถึงแม้อาชีพทั้ง 2 อาชีพนี้จะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ไม่แตกต่างกันเลยแม้แต่นิดเดียวคือ พวกเธอเป็นคน คนทีมีค่า มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับเราทุกคนบนโลกใบนี้

Pick up

บทความแนะนำ

  1. เพลิดเพลินไปกับซากุระที่เกียวโต แนะนำสถานที่ชมดอกไม้ เครื่องแต่งกายและโรงแรมที่ใกล้กับสถานที่ชมดอกไม้

  2. แนะนําสถานที่ชมดอกไม้ในภูมิภาคกลางและตะวันตกของญี่ปุ่น

  3. แนะนำ 10 เทศกาลน่าสนใจในญี่ปุ่นช่วงฤดูใบไม้ผลิ อากาศเย็นสบาย เหมาะกับการท่องเที่ยวแบบชิลๆ

บทความล่าสุด

  1. แนะนำ 9 สถานที่ท่องเที่ยวที่สามารเพลิดเพลินได้ แม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน

  2. แนะนำเมนูอาหารที่สามารถเดินพร้อมทานไปด้วยกันได้ในย่านอาซากุสะ

  3. Harmonyland ดินแดนแห่งความฝันของคนรักซานริโอ้ (จังหวัด Oita)

  4. แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น

  5. มาลองลิ้มรสชาติต้นตำรับกับเมนูอาหารของญี่ปุ่นที่มีอายุยืนยาวมานานกว่า 100 ปี

  6. ใครชอบธรรมชาติต้องไม่ควรพลาด แนะนำสถานที่ชมธรรมชาติและดอกไม้สวยงามภายในญี่ปุ่น

  7. ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ทั้งสถานที่ชื่อดังและสถานที่ลับแห่งจังหวัดชิซึโอกะ Part 4

  8. ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ทั้งสถานที่ชื่อดังและสถานที่ลับแห่งจังหวัดชิซึโอกะ Part 3

  9. ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ทั้งสถานที่ชื่อดังและสถานที่ลับแห่งจังหวัดชิซึโอกะ Part 2

  10. ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ทั้งสถานที่ชื่อดังและสถานที่ลับแห่งจังหวัดชิซึโอกะ Part 1

TOP